นโยบายและเป้าหมายการบริหารจัดการด้านความยั่งยืน
คณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการพัฒนาความยั่งยืน และผู้บริหารระดับสูงได้กำหนดนโยบายด้านความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญในการเป็นเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุวิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาความยั่งยืน ให้สอดคล้องกับทิศทางและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ โดยสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) เพื่อสร้างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยมีกรอบนโยบายและการบริหารจัดการความยั่งยืน ดังนี้
- มิติด้านเศรษฐกิจ มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพในทุกขั้นตอน ใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงาน นำผลการวิจัยและพัฒนามาต่อยอดพัฒนาโมเดลทางธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์และบริการอย่างต่อเนื่อง แสวงหาโอกาสการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดี วางกลยุทธ์เพื่อการเติบโตทางธุรกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยมีความสามารถในการปรับตัวให้มีความยืดหยุ่น โดยคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและภายนอกอย่างครบถ้วน มีความพร้อมด้านระบบและประสิทธิภาพการผลิต
- มิติด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งพัฒนาสู่สังคมคาร์บอนต่ำโดยการลดก๊าซเรือนกระจก กำหนดให้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ เป็นประเด็นความยั่งยืนที่สำคัญขององค์กร โดยตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2586 โดยอาศัยข้อมูลการบริหารจัดการด้านสภาพภูมิอากาศ ตามกรอบ Task Force on Climate-related Financial Disclosures ประกอบการจัดทำกลยุทธ์ และเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงการวางแผนการลงทุนและการเงิน เพื่อความยั่งยืนขององค์กร โดยการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ปรับปรุงเทคโนโลยีให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการนำขยะมาเป็นเชื้อเพลิงแทนถ่านหินในกระบวนการผลิตปูนซิเมนต์ ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน พลังงานชีวมวล (Biomass) จากวัสดุเหลือใช้จากขบวนการผลิต ใช้ยานพาหนะและเครื่องจักรกลหนักที่ใช้พลังงานจากไฟฟ้า (EV Dump Truck) แทนการใช้เครื่องยนต์ที่ใช้พลังงานจากฟอสซิล (น้ำมันดีเซล) บริษัทใช้กลยุทธ์คาร์บอนต่ำทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้โรงงานในกลุ่มทีพีไอโพลีนปฏิบัติตามมาตรฐานไทยและสากล เพื่อให้ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ บริษัทให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ใช้พลังงานสะอาด ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ผลิตปูนซิเมนต์ไฮดรอลิกเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพิ่มขีดความสามารถในการใช้พลังงานทดแทน ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยและของเสีย ให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ ลดการใช้สารเคมีในการเกษตรซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ดินเสีย ลดการใช้สารเคมีในปศุสัตว์ เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของสัตว์และมนุษย์ในฐานะผู้บริโภค และส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการเกิดของเสีย และใช้ประโยชน์จากของเสีย ใส่ใจดูแลความหลากหลายทางชีวภาพและความเสื่อมโทรมของดิน และใช้น้ำอย่างเหมาะสม ลดผลกระทบจากการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่คุณค่าซึ่งรวมถึงพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า และชุมชนสังคม และตอบสนองต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล
- มิติด้านสังคม ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ ให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล มีการดำเนินงานด้านการเคารพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งรวมถึงพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า และชุมชนสังคม สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น มีอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ตลอดจนสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี บริหารและพัฒนาความสามารถและทักษะให้แก่บุคลากรอย่างต่อเนื่อง ให้ความใส่ใจในสุขภาพและความปลอดภัยของลูกค้า มีการประเมินคู่ค้าด้านสังคม ให้ข้อมูลฉลากผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน เคารพข้อมูลส่วนบุคคล ส่งเสริมเยาวชนในด้านการศึกษา และร่วมสร้างคุณค่าและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนและสังคม ให้เติบโตอย่างยั่งยืน
- มิติด้านบรรษัทภิบาล ยึดหลักความถูกต้องและสอดคล้องกับกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ภายใต้จรรยาบรรณธุรกิจ จริยธรรมธุรกิจ มีกรอบการดำเนินงานตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการกำกับกิจการที่ดี เปิดเผยข้อมูลและผลการดำเนินงานอย่างโปร่งใส บริหารจัดการความเสี่ยงรอบด้าน มีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ ต่อต้านการทุจริต มีระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่มีความโปร่งใสเป็นธรรม ไม่ใช้ข้อมูลภายในเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ และมีการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและระบบสารสนเทศ