นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม
- นโยบายภาพรวม
กลุ่มบริษัทมีนโยบายในการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักจริยธรรมและการจัดการที่ดี โดยให้ความสำคัญการสร้างวัฒนธรรมบรรษัทภิบาลอย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่ไปกับการดูแล และรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนพัฒนาด้านการศึกษา การส่งเสริมสุขภาพและความปลอดภัย การสืบสานศิลปะและวัฒนธรรม รวมถึงการพัฒนาสังคม โดยมีจุดมุ่งหมายเพี่อตอบสนองความต้องการอย่างแท้จริงของชุมชนรอบข้าง เพี่อมุ่งสู่การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน บริษัทตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมดังกล่าว จึงได้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1.1 การประกอบกิจการด้วยความเป็นธรรม
บริษัทมีเจตนารมณ์ในการดำเนินธุรกิจตามนโยบายกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance) และจรรยาบรรณธุรกิจ (Code of Conduct) ของบริษัท และมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้บริษัทเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ โดยยึดมั่นการดำเนินงานด้วยความโปร่งใส มีคุณธรรม มีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง
คณะกรรมการบริษัทมีความมุ่งมั่นในการประกอบธุรกิจตามแบบอย่างด้านบรรษัทภิบาล มุ่งเน้นด้านนิติธรรม โปร่งใส เป็นธรรม รับผิดชอบต่อสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้แก่ บุคลากร ลูกค้า ชุมชน และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ภายใต้การบริหารที่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลและอุดมการณ์
“ประเทศไทยใสสะอาด ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข”
คณะกรรมการบริษัท จึงได้กำหนดหลักสำคัญในการดำเนินงานที่ดี เพื่อให้ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท ทุกคนยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ดังต่อไปนี้
(1) คณะกรรมการบริษัทจะยึดถือแนวปฏิบัติด้านบรรษัทภิบาลที่เป็นสากลและมุ่งมั่นพัฒนาการกำกับดูแลกิจการที่ดีตามหลักการมาตรฐานสากลให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันได้แก่ การคำนึงถึงสิทธิของผู้ถือหุ้น การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน การให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
(2) คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน มุ่งมั่นที่จะนำหลักสำคัญในการดำเนินงานที่ดีคือ Creation Shared Value, Responsibility, Equitable treatment, Accountability, Transparency และ Ethics (CREATE) มาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนเคร่งครัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องในทุกประเทศที่เข้าไปลงทุน
(3) คณะกรรมการบริษัท จะจัดให้มีโครงสร้างการบริหารที่มีความสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการ ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นอย่างเป็นธรรม รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ นโยบาย และแผนงานที่สำคัญ มีระบบการติดตาม/วัดผลการดำเนินงาน และบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ มีความเป็นอิสระ และรับผิดชอบต่อผลของการปฏิบัติหน้าที่ของตนตามหลักสำคัญในการดำเนินงานที่ดี โดยคณะกรรมการบริษัทและผู้บริหาร จะเป็นผู้นำในด้านจริยธรรม และเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการ และจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท ตลอดจนส่งเสริมวัฒนธรรมตามหลักสำคัญในการดำเนินงานที่ดี ดูแลรับผิดชอบ ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมให้มีการปฏิบัติและดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิผู้บริโภค และการใช้แรงงานอย่างเป็นธรรม พร้อมทั้งจัดให้มีระบบการตรวจสอบติดตาม ประเมินผล และทบทวน เพื่อให้พนักงานทุกคนยึดถือและปฏิบัติตามหลักสำคัญในการดำเนินงานที่ดีอย่างครบถ้วนและยั่งยืน
นอกจากนี้ บริษัทได้ประกาศใช้แนวทางการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่มอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร โดยยึดหลักการสร้างคุณค่าร่วมกันระหว่างบริษัท และผู้มีส่วนได้เสีย โดยผู้บริหารระดับสูงรับผิดชอบดูแลการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มรวมทั้งการปรับปรุงช่องทางในการให้ความคิดเห็น เพื่อนำความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียส่งต่อไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง โดยผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการดำเนินธุรกิจของบริษัท ประกอบด้วย พนักงาน ผู้ถือหุ้น คู่ค้า ลูกค้า คู่แข่งและชุมชนโดยรอบ เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติของผู้บริหาร และพนักงานทุกคน เพื่อให้การปฏิบัติงานของผู้บริหาร และพนักงานที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ มีหลักการปฏิบัติที่ชัดเจน อาทิ การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้น การปฏิบัติต่อคู่ค้า การปฏิบัติต่อลูกค้า เป็นต้น
1.2 การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
บริษัทมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส มีคุณธรรม และรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ลูกค้า พนักงาน สังคม และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ บริษัทจึงมีนโยบายห้ามกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับของบริษัท ยอมรับหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นในรูปแบบใดๆ ไม่ว่าทางตรง และทางอ้อม เพื่อให้การดำเนินงานสามารถสร้างความมั่นใจต่อผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทโดยกำหนดให้บุคลากรของบริษัทปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ให้สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี จรรยาบรรณของบริษัทระเบียบ ข้อกำหนด และกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาไปสู่องค์กรแห่งความยั่งยืนต่อไป
วัตถุประสงค์
- เพื่อให้พนักงานของบริษัท ทุกระดับ ต้องไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าทางตรงและทางอ้อม
- เพื่อส่งเสริมบทบาท และการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกระดับ เพื่อป้องกันและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท
- เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินธุรกิจร่วมกันด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
ขอบเขต
บริษัทได้กำหนดขอบเขตของผู้มีส่วนได้เสียที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็น 2 กลุ่มดังนี้
- ภายใน : กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท ทุกระดับ
- ภายนอก : ลูกค้าหรือผู้ขายสินค้าหรือบริการ (Supplier) ผู้รับเหมา ผู้รับเหมาช่วง คู่ค้า เจ้าหนี้ หน่วยงานราชการ หน่วยงานเอกชน
คำนิยาม
คอร์รัปชั่น (Corruption) หมายถึง การติดสินบนไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด ๆ โดยการเสนอให้ สัญญา มอบให้ ให้คำมั่น เรียกร้อง หรือรับ ซึ่งเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งไม่เหมาะสม กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของเอกชน หรือผู้มีหน้าที่ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้บุคคลดังกล่าวกระทำหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งธุรกิจ หรือแนะนำธุรกิจให้กับบริษัทโดยเฉพาะ หรือ เพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่เหมาะสมทางธุรกิจ เว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ ขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น หรือจารีตทางการค้าให้กระทำได้
หน้าที่ความรับผิดชอบ
คณะกรรมการบริษัท มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลให้มีระบบที่สนับสนุนการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าฝ่ายบริหารได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นและปลูกฝังจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการใหญ่ กรรมการบริหาร และผู้บริหาร มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดให้มีระบบส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อสื่อสารไปยังพนักงานและผู้เกี่ยวข้องรวมทั้ง ทบทวนให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ สภาพธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับและข้อกำหนดของกฎหมายต่าง ๆ เป็นต้น
คณะกรรมการตรวจสอบ มีหน้าที่สอบทานระบบรายงานทางการเงินและบัญชี ระบบควบคุมภายใน ระบบตรวจสอบภายในและระบบบริหารความเสี่ยง ให้มั่นใจว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีความรัดกุม เหมาะสม ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ
หัวหน้างานฝ่ายตรวจสอบภายใน มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการตรวจสอบและสอบทานการปฏิบัติงานว่าเป็นไปอย่างถูกต้อง ตรงตามนโยบาย แนวปฏิบัติ อำนาจดำเนินการ ระเบียบปฏิบัติ และกฎหมาย ข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีระบบควบคุมที่มีความเหมาะสมและเพียงพอต่อความเสี่ยงด้านคอร์รัปชั่นที่อาจเกิดขึ้น และรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ
แนวปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
- พนักงานต้องไม่ละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง
- ผู้ที่กระทำการทุจริตคอร์รัปชั่นและผู้มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องจะต้องได้รับการลงโทษทางวินัยตามกฎของบริษัทที่กำหนดไว้ และอาจได้รับโทษตามกฎหมาย
- บริษัทจะให้ความเป็นธรรมและมีมาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียน หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานการทุจริตคอร์รัปชั่น
- บริษัทให้ความสำคัญในการเผยแพร่ สื่อสารและฝึกอบรม เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นแก่พนักงานอย่างสม่ำเสมอ
- ฝ่ายตรวจสอบภายในมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการตรวจสอบและสอบทานการดำเนินงานตามนโยบายและแนวปฏิบัติในเรื่องนี้ เพื่อให้มั่นใจว่ามีระบบควบคุมที่มีความเหมาะสม และเพียงพอต่อความเสี่ยงด้านการทุจริตคอร์รัปชั่นที่อาจเกิดขึ้นและรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ
มาตรการการปฏิบัติ
การต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น (การติดต่อธุรกิจกับหุ้นส่วนและบุคคลภายนอก)
พนักงานต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นดังต่อไปนี้ ในการติดต่อธุรกิจกับลูกค้า ผู้ขายสินค้า หรือบุคคลภายนอกที่มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจ (ซึ่งต่อไปนี้ให้เรียกรวมกันว่า “บุคคลภายนอกที่มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจ”)
- พนักงาน ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ประเพณีปฏิบัติทางธุรกิจและมารยาททางธุรกิจในการติดต่อกับบุคคลภายนอกที่มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจ
- พนักงาน ต้องไม่รับหรือเรียกร้องทั้งทางตรงและทางอ้อมซึ่ง เงิน บัตรกำนัล เช็ค หุ้น ของขวัญหรือสินบนอื่นใด เงินค่าตอบแทนพิเศษหรือสิ่งจูงใจใด ๆ ที่มีมูลค่า จากบุคคลภายนอกที่มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจ
- พนักงาน อาจรับของกำนัลที่ไม่ใช่เงินสดหรือของมีราคาใด ๆ จากบุคคลภายนอกที่มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจก็ได้ โดยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาสายตรงก่อน ทั้งนี้ การรับของกำนัลเช่นว่านั้นต้องเป็นไปตามกฎระเบียบ ประเพณีปฏิบัติทางธุรกิจหรือมารยาททางธุรกิจ และต้องไม่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางธุรกิจของพนักงาน
- พนักงาน จะต้องไม่พึงหาประโยชน์ใด ๆ จากตำแหน่งหน้าที่ของตนในบริษัท เพื่อรับหรือเรียกร้อง ให้บุคคลภายนอกที่มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจหรือผู้ที่เกี่ยวข้องของบุคคลภายนอกดังกล่าว รวมถึงไม่ให้บริการใด ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท
- เมื่อพนักงานแนะนำบุคคลให้แก่บริษัท การดำเนินการดังกล่าวจะต้องไม่ขัดต่อผลประโยชน์หรือขั้นตอนการจัดจ้างของบริษัท อีกทั้งต้องไม่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอันมิชอบด้วยกฎหมาย
- พนักงานที่เป็นผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาในหน่วยงานเดียวกัน พึงไม่มีความสัมพันธ์ในฐานะคู่สมรสหรือบิดามารดา/บุตร
- พนักงานต้องไม่ให้สินบนแก่เจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ราชการโดยการเสนอให้เงิน บัตรกำนัล เช็ค หุ้น ของขวัญหรือสินบนอื่นใด เงินค่าตอบแทนพิเศษหรือสิ่งจูงใจใด ๆ ที่มีมูลค่า
- พนักงานที่ละเมิดข้อกำหนดในวรรคก่อนต้องถูกลงโทษตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของบริษัท และอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
- พนักงานต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาของตนก่อนเสนอให้ของกำนัล (ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ของบริษัท) หรือเลี้ยงรับรองแก่บุคคลภายนอกที่มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจ โดยที่ยังคงต้องปฏิบัติตามประเพณีปฏิบัติหรือมารยาททางธุรกิจ กฎหมายท้องถิ่นและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของบริษัทด้วย ถ้าพนักงานไม่ได้รับความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาของตนล่วงหน้าเนื่องจากมีเหตุเร่งด่วนแล้ว พนักงานรายดังกล่าวยังพึงต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาของตนหลังจากมอบของกำนัลหรือเลี้ยงรับรองแก่บุคคลภายนอกที่มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจไปแล้วอยู่
- พนักงานไม่พึงหาประโยชน์ใด ๆ จากตำแหน่งหน้าที่ของตนในบริษัท เพื่อมีความสัมพันธ์อันมิชอบ ทำการคุกคามทางเพศ การเลือกปฏิบัติในรูปแบบใด ๆ (รวมถึงการเลือกปฏิบัติโดยอาศัยเชื้อชาติ เพศ ความพิการหรือศาสนาเป็นเกณฑ์) ลักทรัพย์ ข่มขู่ บีบบังคับ หรือการดำเนินการอันไม่ชอบด้วยกฎหมายอื่น ๆ
- หากพนักงานมีคำถามเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นแล้ว พนักงานจะต้องขอความเห็นจากผู้บังคับบัญชาของตนเพื่อไม่ให้เกิดข้อโต้แย้งขึ้น
การแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียน
- เรื่องที่รับแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน
1.1 การกระทำที่ทุจริต คอร์รัปชั่น ที่เกี่ยวข้องกับองค์กร โดยทางตรงหรือทางอ้อม
1.2 การกระทำที่ผิดขั้นตอนตามระเบียบปฏิบัติของบริษัท หรือมีผลต่อระบบการควบคุมภายในของบริษัท จนทำให้สงสัยได้ว่า อาจจะเป็นช่องทางในการทุจริต
1.3 การกระทำที่ทำให้บริษัท เสียผลประโยชน์ กระทบต่อชื่อเสียงของบริษัท
1.4 การกระทำที่ผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม จรรยาบรรณทางธุรกิจ
- ช่องทางแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียน
พนักงานทุกคนมีหน้าที่ต้องรายงานเรื่องราวไปยังบุคคล และ/หรือ หน่วยงานดังต่อไปนี้เมื่อพบเห็นการทุจริต คอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของบริษัท ที่ละเมิดนโยบายนี้ โดยใช้ช่องทางใดช่องทางหนึ่ง
- กลไกแสดงความคิดเห็นจากภายใน (ผู้ร้องทุกข์จากภายใน)
(1) หัวหน้าฝ่ายตรวจสอบ หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือหัวหน้าฝ่ายกฎหมาย
(2) กล่องรับความคิดเห็น
(3) จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.)
- กลไกแสดงความคิดเห็นจากภายนอก (ผู้ร้องทุกข์จากภายนอก)
(1) จดหมาย : นางอรพิน เลี่ยวไพรัตน์
กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส
บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน)
26/56 ถนนจันทน์ตัดใหม่ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพฯ 10120
(2) กล่องจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.)
(3) จดหมาย : คณะกรรมการตรวจสอบ
บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน)
26/56 ถนนจันทน์ตัดใหม่ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพฯ 10120
(4) โทรศัพท์ 02-285-5090 หรือ 02-213-1039 ต่อ 12962 / 12963 - ฝ่ายตรวจสอบภายใน
การคุ้มครองผู้ร้องเรียน และการรักษาความลับ
- การคุ้มครองผู้ร้องเรียน และผู้เกี่ยวข้อง
เนื่องจากการร้องเรียน และการให้ข้อมูลที่กระทำไปโดยสุจริตใจ ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ทั้งบริษัท และพนักงานเป็นส่วนรวม ดังนั้น ผู้ยื่นคำร้องเรียน ผู้ให้ถ้อยคำ ให้ข้อมูล ให้ข้อเท็จจริง หรือให้พยานหลักฐานใดเกี่ยวกับการร้องเรียน และที่เป็นผู้พิจารณาคำร้องเรียน เมื่อได้กระทำไปโดยสุจริตใจ แม้จะเป็นเหตุให้เกิดข้อยุ่งยากประการใด ย่อมได้รับการประกันการคุ้มครองว่าจะไม่เป็นเหตุหรือถือเป็นเหตุที่จะเลิกจ้าง ลงโทษ หรือดำเนินการใดที่เกิดผลร้ายต่อพนักงานดังกล่าว
บริษัทมีนโยบายที่จะให้ความเป็นธรรมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเท่าเทียมกันตามกฎข้อบังคับของบริษัท โดยจะให้ความคุ้มครองแก่ผู้ร้องเรียน และเรื่องที่ร้องเรียนนั้น เป็นความลับ และจะดำเนินการเพื่อคุ้มครองผู้ร้องเรียน
- การปิดบังชื่อและการเก็บรักษาความลับ
พนักงานหรือผู้ร้องเรียนจากภายนอก อาจเลือกไม่เปิดเผยชื่อเมื่อรายงานการกระทำละเมิดของพนักงานคนอื่นก็ได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทสนับสนุนให้พนักงานระบุตัวตนของตนเมื่อทำการรายงานเพื่อให้ง่ายต่อการติดต่อและสอบสวน เมื่อพนักงานหรือผู้ร้องเรียนจากภายนอกทำการรายงานแล้ว หน่วยงานที่รับเรื่องพึงดำเนินมาตรการปกป้องคุ้มครองและป้องกันที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถทำการสอบสวนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อป้องกันพนักงานหรือผู้ร้องทุกข์จากภายนอกดังกล่าวจากการกลั่นแกล้งหรือการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
การดำเนินการสืบสวน และบทลงโทษ
- เมื่อได้รับการแจ้งเบาะแส กรรมการบริหาร ผู้บริหาร และคณะกรรมการตรวจสอบจะเป็นผู้กลั่นกรอง สืบสวนข้อเท็จจริง
- ระหว่างการสืบสวนข้อเท็จจริง กรรมการบริหาร ผู้บริหาร และคณะกรรมการตรวจสอบ อาจจะมอบหมายให้ตัวแทน (ผู้บริหาร) แจ้งผลความคืบหน้าเป็นระยะให้ผู้แจ้งเบาะแส หรือร้องเรียนได้ทราบ
- หากการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้วพบว่า ข้อมูลหรือหลักฐานที่มี มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือทุจริตจริง บริษัทจะให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหา ได้รับทราบข้อกล่าวหา และให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาพิสูจน์ตนเอง โดยการหาข้อมูลหรือหลักฐานเพิ่มเติมที่แสดงให้เห็นว่าตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำอันทุจริตตามที่ได้ถูกกล่าวหา
- หากผู้ถูกร้องเรียน ได้กระทำการทุจริตจริง การทุจริตนั้นถือว่าเป็นการกระทำผิดนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น จะต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัย ตามระเบียบที่บริษัทกำหนดไว้ และหากการกระทำทุจริตนั้นผิดกฎหมาย ผู้กระทำความผิดอาจจะต้องได้รับโทษทางกฎหมาย ทั้งนี้โทษทางวินัยตามระเบียบของบริษัท คำตัดสินของคณะกรรมการ (ผู้บริหาร) ถือเป็นอันสิ้นสุด
การเผยแพร่นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
เพื่อให้ทุกคนในองค์กรได้รับทราบนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น บริษัทจะดำเนินการดังต่อไปนี้
- บริษัทจะติดประกาศนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นให้พนักงานรับทราบโดยทั่วกัน
- บริษัทจะเผยแพร่นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ผ่านช่องทางการสื่อสารของบริษัท เช่น จดหมายอิเล็คทรอนิคส์ เว็บไซต์บริษัท รายงานประจำปี เป็นต้น
- บริษัทจะจัดให้มีการทบทวนนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างสม่ำเสมอ
1.3 การเคารพสิทธิมนุษยชน
บริษัทตระหนักดีถึงกิจกรรมและการประกอบธุรกิจของบริษัท ว่ามีความอ่อนไหวต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานบริษัททุกคน ต้องเคารพต่อกฎหมาย แนวปฏิบัติ ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมของท้องถิ่นแต่ละที่ที่บริษัทเข้าไปประกอบกิจการ จึงได้กำหนดแนวปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
(1) พนักงานจะต้องปฏิบัติต่อบุคคลใด ๆ ในพื้นที่ของโรงงานด้วยความเคารพ บนพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นธรรม และให้เกียรติซึ่งกันและกัน รวมทั้งปฏิบัติตามกฎหมายทั้งหมดที่มีผลบังคับใช้ภายในประเทศ
(2) บริษัทส่งเสริมความหลากหลายในการจ้างงานและให้โอกาสพนักงานในการเติบโตและก้าวหน้าในสายอาชีพ โดยไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง อันเนื่องมาจากความเหมือนหรือความแตกต่างด้านเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา ประเทศ การศึกษา อายุ เพศ สถานภาพ ความพิการทางร่างกายและอื่น ๆ
(3) พนักงานจะต้องดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างระมัดระวังและรอบคอบ
(4) พนักงาน จะไม่เปิดเผยข้อมูลความลับของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อผู้ไม่มีสิทธิรับรู้ เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้มีส่วนได้ส่วนได้ส่วนเสียเองหรือจากผู้มีอำนาจอนุมัติที่บริษัทมอบหมายเท่านั้น
(5) พนักงาน จะต้องจำกัดการเปิดเผยการใช้และการเข้าถึงข้อมูลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเท่าที่จำเป็น
(6) ห้ามพนักงาน กระทำการที่เป็นการคุกคาม ล่วงเกิน หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญทางเพศในโรงงานอย่างเด็ดขาด
นอกจากนี้ การปฏิบัติและกระบวนการบริหารงานด้านการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ของบริษัท จะต้องสอดคล้องกับการปฏิบัติตามความสมัครใจว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยและหลักสิทธิมนุษยชน
1.4 การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม
บริษัทให้ความสำคัญกับพนักงานของบริษัท โดยมุ่งเน้นให้พนักงานทุกคนมีความก้าวหน้าในการทำงาน มีสวัสดิการและความมั่นคง โดยได้รับการพัฒนาศักยภาพ และมีความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อการปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเป็นธรรม จึงได้กำหนดแนวปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
(1) บริษัทมีแผนงาน และหลักสูตร อบรมพนักงาน เพื่อสอนงานทั้งในส่วนงานที่ต้องปฏิบัติ หรือที่มีความเกี่ยวข้องเพื่อให้พนักงานมีความรู้ความเข้าใจ สามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องปลอดภัยและเหมาะสมกับพนักงานในแต่ละตำแหน่งงาน
(2) จัดการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพความรู้ ความสามารถในการแข่งขันของพนักงานเพื่อรองรับการเติบโตของบริษัท และความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานของพนักงาน
(3) สนับสนุนให้มีการถ่ายทอดความรู้ การสอนงาน การเรียนรู้งานระหว่างพนักงานด้วยกัน
(4) ให้โอกาส และสนับสนุนการศึกษาต่อของพนักงาน และการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มความรู้ทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กร ตามลักษณะงานที่เหมาะสม
(5) บริษัทมีระเบียบปฏิบัติด้านการจ้างงานอย่างชัดเจนและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด รวมถึงความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน โดยไม่จำกัดเพศ อายุ แหล่งที่มาทางสังคม ชนชั้นเชื้อชาติ ศาสนา สถาบันการศึกษา โดยนโยบายในการจ้างงานและเงื่อนไขในการทำงานอยู่บนพื้นฐานของความต้องการของงานนั้น ๆ
(6) บริษัทจะไม่ว่าจ้างแรงงานอพยพครอบคลุมถึงบริษัทผู้รับเหมาและบริษัทผู้รับเหมาช่วง
(7) จัดให้มีช่องทางการรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของพนักงาน
(8) ให้ผลตอบแทน และสวัสดิการที่เทียบเท่ากับบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน
(9) สร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี และมีความปลอดภัยในการทำงาน
1.5 ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค
บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะให้ลูกค้าหรือผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าและบริการจากบริษัท ได้รับประโยชน์ และมีความพึงพอใจสูงสุดต่อสินค้า โดยการผลิตสินค้าด้วยราคาที่เป็นธรรม มีคุณภาพ และมีความรับผิดชอบต่อลูกค้าและผู้บริโภค โดยต้องให้บริการลูกค้าและผู้บริโภคด้วยความรวดเร็ว และไม่เลือกปฏิบัติ ตลอดจนรักษาสัมพันธภาพที่ยั่งยืนกับลูกค้าและผู้บริโภค ซึ่งมีแนวปฏิบัติดังนี้
(1) มุ่งพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ และบริการให้ครบวงจร ส่งมอบสินค้าและบริการที่รวดเร็ว มีคุณภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพนักงานฯ ต้องทุ่มเทเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และผู้บริโภคอย่างเต็มที่ ด้วยราคาที่สมเหตุสมผล ไม่จำกัดสิทธิของผู้บริโภค
(2) ต้องไม่กระทำการใดอันเป็นการหลอกลวง หรือทำให้หลงเชื่อในคุณภาพสินค้า และบริการของบริษัท โดยผลิตสินค้าและบริการที่ปลอดภัย ไว้วางใจได้ ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค โดยต้องกำหนดให้มีป้ายเตือนภัย หรือเอกสารกำกับสินค้า ตามระบบบริหารคุณภาพตามมาตรฐานสากล
(3) จัดเก็บข้อมูลของลูกค้าอย่างเป็นระบบ ปลอดภัย และไม่นำข้อมูลของลูกค้าไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องกำหนดราคาของสินค้า และบริการที่เป็นธรรม
(4) จัดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการให้ข้อเสนอแนะ ให้ความรู้ ความเข้าใจที่เพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการ รวมถึงให้คำปรึกษา และวิธีแก้ปัญหา พร้อมทั้งรับข้อร้องเรียนเพื่อให้ลูกค้าได้รับความพึงพอใจอย่างสูงสุดในสินค้าและบริการ
1.6 การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
ธุรกิจหลักของบริษัท คือ การผลิตและจำหน่ายปูนซิเมนต์ ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้นำขยะมาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหิน นอกจากนี้บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทย่อยได้มุ่งเน้นไปที่โรงไฟฟ้าซึ่งเชื้อเพลิง RDF ธุรกิจของบริษัทจึงเป็นธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
1.7 การร่วมพัฒนาชุมชนหรือสังคม
การมุ่งมั่นพัฒนาชุมชนและสังคม ส่งเสริมคุณภาพชีวิต รวมถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้อุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับสังคมและชุมชนด้วยความเกื้อกูลกัน เป็นสิ่งที่บริษัทในฐานะบริษัทของคนไทยให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจมาโดยตลอด ซึ่งบริษัทได้มุ่งเน้นพัฒนาเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างยั่งยืน
1.8 การใช้นวัตกรรมและเผยแพร่นวัตกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
บริษัทประกอบธุรกิจโดยมุ่งเน้นการต่อยอดนวัตกรรมโดยใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด บริษัทจึงมุ่งเน้นการนำขยะมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหิน การใช้พลังงานทดแทนดังกล่าวช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกสู่ชั้นบรรยากาศ จึงถือว่าเป็นนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทได้เผยแพร่หลักการดังกล่าวให้ชุมชนและประชาชนได้ศึกษาและเข้าใจการดำเนินงานของบริษัท ในโอกาสต่าง ๆ
ธุรกิจของบริษัทจึงเป็นธุรกิจที่มีนวัตกรรมนำขยะกลับมาใช้ให้เป็นประโยชน์ อีกทั้งช่วยชุมชนในการลดปริมาณขยะซึ่งเป็นปัญหาระดับประเทศ และช่วยลดกระบวนการในการกำจัดขยะของหน่วยงานรัฐและเอกชนอื่น ๆ อันเป็นการประหยัดพลังงานทางอ้อม ตามแนวทางของบริษัทที่มุ่งสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตทางธุรกิจ และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์สังคมไทยให้เข้มแข็ง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอยู่คู่สังคมไทย
- การดำเนินงานและการจัดทำรายงาน (CSR in Process)
กลุ่มบริษัทมีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม และดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าวอย่างเคร่งครัดเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ ที่ผ่านมาบริษัทมีการดำเนินการเพื่อประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมโดยได้กำหนดแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
(1) บริษัทมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามแนวทาง “ขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste)” และได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยได้ควบคุม กำกับดูแล และพัฒนากระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าอัตราการปล่อยของเสียจากการประกอบกิจการอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับสูงสุดที่กฎหมายกำหนด โดยมีการนำขยะมาใช้เป็นพลังงานทดแทนถ่านหิน
(2) บริษัทมุ่งเน้นการประกอบกิจการในแนวทางที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกสู่ชั้นบรรยากาศ อันเป็นเหตุก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกและส่งผลกระทบต่อชุมชน โดยบริษัทเป็นผู้ผลิตปูนซิเมนต์รายแรกที่นำขยะมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหิน
(3) บริษัทมุ่งมั่นที่จะช่วยลดปัญหาขยะในชุมชนโดยการนำขยะชุมชนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหิน โครงการนี้ช่วยบริหารจัดการขยะชุมชน ลดปริมาณขยะและลดพื้นที่ในการกักเก็บขยะ
(4) บริษัทใช้ระบบการเฝ้าระวังการปล่อยของเสียอย่างต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังการปล่อยของเสียจากกระบวนการการผลิตปูนซิเมนต์ และติดตามคุณภาพอากาศโดยรอบของพื้นที่หลายแห่งที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับโรงงาน เพื่อรักษาระดับการปล่อยของเสียให้อยู่ในระดับที่กฎหมายกำหนด
(5) บริษัทให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามข้อบังคับ กฎหมายและข้อกำหนดอื่นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม
- ดำเนินธุรกิจที่มีผลกระทบต่อความรับผิดชอบสังคม
-ไม่มี-
แนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น
กลุ่มบริษัทมีนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยมุ่งเน้นส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ความโปร่งใส ในการดำเนินธุรกิจตามหลักจริยธรรมทางธุรกิจของบริษัท ตลอดจนดำเนินธุรกิจด้วยระบบบริหารที่มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้ บริษัทยังส่งเสริมให้บุคลากรของบริษัททุกระดับ ไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นใด ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกระดับในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท
กลุ่มบริษัทมีนโยบายในการให้หรือรับของขวัญ ของกำนัล รวมทั้งผลประโยชน์อื่น ๆ จากบุคคลหรือบริษัทที่ประกอบธุรกิจกับบริษัท เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยพนักงานของบริษัท จะต้องไม่รับหรือเรียกร้องทั้งทางตรงและทางอ้อมซึ่งของขวัญหรือสินบนอื่นใด เงินค่าตอบแทนพิเศษหรือสิ่งจูงใจใด ๆ ที่มีมูลค่าจากบุคคลภายนอกที่มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจ และหากจำเป็นต้องกระทำการดังกล่าว พนักงานของบริษัทจะต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาสายตรงก่อน ทั้งนี้ การรับของกำนัลเช่นว่านั้นต้องเป็นไปตามกฎระเบียบ ประเพณีปฏิบัติทางธุรกิจหรือมารยาททางธุรกิจ และต้องไม่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางธุรกิจของพนักงาน
นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทมีนโยบายที่ไม่อนุญาตหรือส่งเสริมให้มีการจ่ายเงินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือติดสินบนหน่วยงานของรัฐ และยังกำหนดวิธีการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนกรณีมีผู้พบเห็นการกระทำอันมิชอบไว้อย่างชัดเจน พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการดำเนินการสืบสวนและบทลงโทษไว้ในนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของบริษัท